
บทสรุปรถไฟทางคู่ช่วงสถานีมาบกะเบา-ชุมทางถนนจิระ ผ่าเมืองโคราช ยังไม่ได้ข้อยุติ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงคมนาคมให้ตั้งคณะกรรมการร่วม 2 ฝ่าย พิจารณาหาทางออกร่วมกัน เพื่อลดผลกระทบที่มีต่อประชาชน พร้อมนัดฟังข้อมูลจากการรถไฟอีกครั้งในวันที่ 25 กรกฎาคมนี้ ขณะที่การรถไฟฯ ชี้ภายในวันที่ 1 กันยายน 2560 ก็จะได้ผู้รับจ้าง ซึ่งกระบวนการได้ล่วงเลยมาจนถึงขั้นตอนสุดท้ายก่อนจะมีการก่อสร้าง หากต้องปรับเปลี่ยนรูปแบบการก่อสร้างเป็นยกระดับ ก็ต้องไปนับหนึ่งใหม่ การที่จะยกระดับทั้งย่านนั้นแทบเป็นไปไม่ได้หรือเป็นไปได้ก็ยากมาก
ย้อนไปเมื่อวันที่ 20 กรกฎาคม 2560 ที่ผ่านมา ณ ห้องประชุม 1 ชั้น 2 กระทรวงคมนาคม กรุงเทพมหานคร นายวิเชียร จันทรโณทัย ผู้ว่าราชการจังหวัดนครราชสีมา นำคณะผู้แทนประชาชนชาวจังหวัดนครราชสีมา ประกอบด้วย นายสมเกียรติ วิริยะกุลนันท์ โยธาธิการและผังเมืองจังหวัดฯ, นายศิระ บุญธรรมกุล ขนส่งจังหวัดฯ, นายสมบูรณ์ ชัยศิรินิรันดร์ ผู้อำนวยการสำนักงานทางหลวงชนบทที่ 5 นครราชสีมา, นายสุรวุฒิ เชิดชัย นายกเทศมนตรีนครนครราชสีมา, นายปรีชา จันทรรวงทอง นายเทศมนตรีเมืองสีคิ้ว, ผู้แทนหอการค้า, ผู้แทนสภาอุตสาหกรรม และประชาชนในเขตชุมชนเมืองนครราชสีมา เข้าพบ ดร.พิชิต อัคราทิตย์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงคมนาคม และ นายอานนท์ เหลืองบริบูรณ์ รองอธิบดีกรมทางหลวง ฐานะรักษาการผู้ว่าการรถไฟแห่งประเทศไทย พร้อมด้วย นายชยธรรม์ พรหมศร รองผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและแผนการขนส่งและจราจร หรือ สนข. และคณะทำงานที่เกี่ยวข้องกับโครงการฯ เพื่อชี้แจงข้อมูลผลกระทบจากโครงการรถไฟทางคู่ ช่วงสถานีมาบกะเบา-ชุมทางถนนจิระ ตามที่โฟกัสโคราชได้รายงานข่าวไปแล้ว (>>>อ่านข่าวย้อนหลัง)
ทั้งนี้ในที่ประชุม นายสุรวุฒิ เชิดชัย นายกเทศมนตรีนครนครราชสีมา ได้ขอให้การรถไฟแห่งประเทศไทย ทบทวนรูปแบบการก่อสร้างรถไฟรางคู่ เป็นแบบยกระดับ ช่วงที่ผ่านเข้าชุมชนเมือง เพื่อลดผลกระทบที่ตามมา โดยได้นำโมเดลรูปแบบจำลองรถไฟระดับพื้นดิน ที่จะทำให้ตัวเมืองถูกแบ่งออกเสมือนเมืองอกแตก วิถีชีวิตชุมชนเปลี่ยนแปลงไป การจราจรที่ผ่านจุดตัดถนนทางข้ามรถไฟรวม 15 จุด ที่มียานพาหนะประมาณ 5 หมื่นคันผ่าน หากต้องปิดจุดตัดรถไฟ และสร้างสะพานกลับรถ อาจจะส่งผลให้การจราจรติดขัด ขณะที่หากเปลี่ยนเป็นรถไฟยกระดับ จะสามารถเพิ่มพื้นที่การระบายน้ำใต้ทางรถไฟ เป็นการป้องกันน้ำท่วมได้ในอนาคต ซึ่งประชาชนจังหวัดนครราชสีมา ไม่ได้คัดค้านโครงการรถไฟรางคู่ แต่ต้องการให้มีการทบทวนรูปแบบ เพื่อให้สอดคล้องกับการพัฒนาเมืองในปัจจุบัน และอนาคต
เช่นเดียวกันกับ นายปรีชา จันทรรวงทอง นายกเทศมนตรีเมืองสีคิ้ว ได้กล่าวในที่ประชุมว่า รถไฟรางคู่ที่ผ่านเทศบาลเมืองสีคิ้ว มีอยู่ด้วยกัน 3 จุดตัดรถไฟที่อาจได้รับผลกระทบ ซึ่งถึงแม้การรถไฟฯ จะสร้างสะพานกลับรถ แต่ด้วยระยะทางที่ไกลจากสถานี ประกอบกับ จุดตัดรถไฟที่ต้องปิดตายอยู่ในเขตชุมชนเมือง หากรถไฟรางคู่อยู่ระดับดิน ก็จะส่งผลกระทบต่อวิถีชีวิตของประชาชน จึงเรียกร้องให้ปรับเป็นรถไฟยกระดับ
ส่วนทางด้าน นายสมเกียรติ วิริยะกุลนันท์ โยธาธิการและผังเมืองจังหวัดนครราชสีมา ได้นำตัวอย่างการพัฒนาพื้นที่รถไฟจากประเทศออสเตรเลีย มาให้ที่ประชุมได้ดู หากรถไฟรางคู่ยกระดับ จะมีพื้นที่เพียงพอต่อการใช้ประโยชน์ที่ด้านล่าง อาทิ เป็นสวนสาธารณะ หรือสร้างเป็นถนนแก้ปัญหาจราจรติดขัด รวมถึงเป็นท่อระบายน้ำ ป้องกันน้ำท่วมเป็นต้น
ขณะที่ นายสมบูรณ์ ชัยศิรินิรันดร์ ผู้อำนวยการสำนักงานทางหลวงชนบทที่ 5 นครราชสีมา ให้ข้อมูลถึงการออกแบบสะพานกลับรถหรือเกือกม้า ว่า เป็นการออกแบบที่จะทำให้เกิดอุบัติเหตุ เพราะสะพานกลับรถข้ามทางรถไฟ มีลักษณะรถสวนทางไป-มา ซึ่งโดยปกติทางด้านวิศวกรรมจะหลีกเลี่ยงการออกแบบในลักษณะนี้ เพราะจะทำให้เกิดอุบัติเหตุได้ง่าย
ด้าน นายอานนท์ เหลืองบริบูรณ์ รองอธิบดีกรมทางหลวง ฐานะรักษาการผู้ว่าการรถไฟแห่งประเทศไทย ได้ชี้แจงในที่ประชุม ว่า ความคืบหน้าของโครงการก่อสร้างรถไฟรางคู่ ช่วงมาบกะเบา-ชุมทางถนนจิระ ได้ผ่านขั้นตอนการรับฟังการมีส่วนร่วม การศึกษาผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อม หรือ EIA การจัดทำ TOR และภายในวันที่ 1 กันยายน 2560 ก็จะได้ผู้รับจ้าง ซึ่งกระบวนการได้ล่วงเลยมาจนถึงขั้นตอนสุดท้ายก่อนจะมีการก่อสร้าง หากต้องปรับเปลี่ยนรูปแบบการก่อสร้างเป็นยกระดับ ก็ต้องไปนับหนึ่งใหม่ คือ เริ่มจากการออกแบบ จัดทำการศึกษาผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อม หรือ EIA ใหม่ทั้งหมด รวมถึงการจัดทำงบประมาณใหม่ ซึ่งแน่นอนจะต้องเพิ่มค่าก่อสร้างที่สูงขึ้น ที่สำคัญจะส่งผลทำให้โครงการนี้ต้องเลื่อนออกไปไม่น้อยกว่า 1-2 ปี ขณะที่รถไฟรางคู่ ชุมทางจิระ-ขอนแก่น ก็ได้เร่งดำเนินการก่อสร้างไว้รอแล้ว
รักษาการผู้ว่าการรถไฟแห่งประเทศไทย กล่าวอีกว่า ตนไม่อยากให้ประชาชนชาวจังหวัดนครราชสีมา ตั้งธงไว้ก่อนว่า รถไฟรางคู่ต้องเป็นยกระดับเท่านั้น แต่ควรนำรูปแบบที่มีการออกแบบแล้วมาดูว่า จะสามารถแก้ปัญหา เพื่อลดผลกระทบประชาชนอย่างไรได้บ้าง
…ซึ่งหากต้องยกระดับรถไฟรางคู่ก็ต้องยกระดับทั้งสถานีรถไฟนครราชสีมาและสถานีรถไฟชุมทางจิระ การที่จะยกระดับทั้งย่านนั้น แทบเป็นไปไม่ได้ หรือเป็นไปได้ก็ยากมาก เนื่องจากบริเวณสถานีรถไฟนครราชสีมา เตรียมออกแบบเป็นศูนย์ซ่อมรถไฟ อีกทั้งการก่อสร้างรถไฟรางคู่ระดับพื้นดินเป็นการสร้างเพื่อรองรับรถไฟความเร็วสูงที่จะเกิดขึ้นเร็วๆ นี้…
ทั้งนี้ในที่ประชุม ทั้งสองฝ่ายพยายามยกเหตุผลของตนมาหักล้างกันด้านข้อมูลทางวิชาการ และด้านวิศวกรรม ซึ่งการประชุมได้ล่วงเลยเวลากว่า 3 ชั่วโมง ดร.พิชิต อัคราทิตย์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงคมนาคม จึงสรุปให้มีการตั้งคณะทำงานร่วม 2 ฝ่ายขึ้นมาดูรูปแบบการก่อสร้างรถไฟรางคู่ว่าจะพอมีหนทางปรับเปลี่ยนได้หรือไม่ โดยกำหนดนัดหมายให้ทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องร่วมรับฟังข้อมูลเหตุผล ทางเทคนิค เพื่อสรุปข้อมูลให้ตรงกันในวันที่ 25 กรกฎาคม ที่กระทรวงคมนาคม
เครดิตข่าว : ณฐกฤต ตะถา ผู้สื่อข่าว KCTV
RSS